อันตรายของ ‘โรคลมชักชนิดเหม่อ’

หลายๆ คนเข้าใจว่าโรคลมชักต้องแสดงออกด้วยอาการชักเกร็งเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ความจริงแล้ว ยังมีโรคลมชักชนิดเหม่อ ที่ผู้ป่วยมักแสดงอาการเหม่อลอยด้วย วันนี้เพจเจ้าตัวเล็กมีเรื่องราวของโรคนี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

Absence Seizure หรือโรคลมชักชนิดเหม่อ เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคลมชักที่พบมากในเด็ก และส่วนใหญ่มักจะหายไปเมื่อโตขึ้น แต่หากเจ้าตัวเล็กมีอาการแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมอ เพราะอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตได้ โดยโรคลมชักชนิดเหม่อ จะมีอาการดังนี้ค่ะ

 

1) เจ้าตัวเล็กมีอาการหยุดชะงักและเหม่อลอยเป็นพักๆ ระหว่างนั่ง ยืน เดิน หรืออิริยาบถอื่น เช่น หยุดพูดในขณะที่กำลังเล่าเรื่อง หรือหยุดเดินแบบกะทันหัน โดยจะหยุดนิ่งแต่ไม่ล้มหรืออ่อนแรง ยกเว้นกรณีเกิดร่วมกับอาการของโรคลมชักแบบอื่นๆ เช่น ตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นลมบ้าหมู ซึ่งอาจทำให้ล้มและเกิดอุบัติเหตุได้

2) อาการเหม่อลอยของเจ้าตัวเล็ก มักเกิดขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่ถึง 15 วินาที หรืออาจนานกว่านั้น

3) ในขณะเหม่อลอย เจ้าตัวเล็กอาจมีการเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนที่ต่างออกไปจากเดิม เช่น ท่าเหมือนกำลังเคี้ยวอาหาร กะพริบตาถี่ เม้มปาก นิ้วมือและมือขยับ และหลังหายจากอาการเหม่อก็จะกลับมาทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ อย่างการเดินหรือพูดคุย โดยไม่มีความทรงจำช่วงที่เหม่อลอย

4) ถ้าเจ้าตัวเล็กใช้ยากันชักเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยังมีอาการชัก อาการชักรุนแรงขึ้น หรือมีอาการชักชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบคุณหมอ

 

การป้องกันโรคลมชักชนิดเหม่อ

ในกรณีที่มีสาเหตุของโรคจากกรรมพันธุ์ จะไม่สามารถป้องกันได้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้เจ้าตัวเล็กกินยาตามที่คุณหมอสั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ รวมทั้งสอนให้เจ้าตัวเล็กกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นไขมันชนิดดีและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอันตรายอย่างการขับรถหรือว่ายน้ำ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับเจ้าตัวเล็กและคนรอบตัวเพื่อสร้างความเข้าใจในอาการของโรคและช่วยกันวางแผนการดูแลด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com

 

Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่