คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องของคนที่ป่วยเป็นโรคคลั่งผอม ซึ่งเป็น 1 ในโรคที่เกี่ยวกับ Eating Disorder หรือเรื่องพฤติกรรมการกินผิดปกติ วันนี้เพจเจ้าตัวเล็กจะมาชวนคุยเรื่องนี้กันค่ะ
Eating Disorder เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการกิน โดยจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในการกินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง สาเหตุอาจมาจากนิสัยเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ไปจนถึงพันธุกรรม ประวัติครอบครัว การอดอาหารแบบผิดๆ และค่านิยมเกี่ยวกับรูปร่างที่ผอมบางด้วยค่ะ
Eating Disorder ที่พบในเด็ก วัยรุ่น และคุณแม่ตั้งครรภ์ มีดังนี้ค่ะ
1) อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) หรือโรคกลัวอ้วน/โรคคลั่งผอม หมกมุ่นคิดว่าต้องรักษารูปร่างให้ผอมเสมอ กลัวน้ำหนักขึ้นแม้น้ำหนักของตัวเองจะต่ำกว่าเกณฑ์ มี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่พยายามจำกัดปริมาณการกินอาหาร หรือออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่ม และกลุ่มที่กินอาหารมากผิดปกติในช่วงสั้นๆ แล้วล้วงคอให้อาเจียน หรือใช้ยาระบายลดน้ำหนัก อาการที่พบบ่อยคือ ผอมแห้ง ทนความหนาวไม่ได้ อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เวียนศีรษะ เป็นลมจากการขาดน้ำ ท้องอืด ท้องผูกอย่างรุนแรง ไปจนถึงขั้นที่กระดูกบาง ผมบางและร่วง เล็บเปราะง่าย หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง หัวใจ อวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิต
2) บูลิเมีย (Bulimia Nervosa) กินอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ และจะรู้สึกผิดหลังจากที่กินมากเกินไป จึงพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไปด้วยการล้วงคอให้อาเจียน ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ สวนทวาร หรือออกกำลังอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยการอาเจียนและใช้ยาระบายบ่อยอาจทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง กรดไหลย้อน ฟันผุจากกรดในกระเพาะอาหาร ท้องเสียไม่ทราบสาเหตุ ฮอร์โมนแปรปรวน หากอาการรุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิต
3) โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) กินอาหารมากผิดปกติในเวลาไม่นานแม้ไม่รู้สึกหิว ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินได้จนกว่าแน่นท้อง ไม่สบายตัว บางคนอาจมีพฤติกรรมล้วงคอหรือใช้ยาระบายเพื่อกำจัดอาหารที่กินแต่เมื่อกินเสร็จ จะรังเกียจหรือโกรธที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ อายที่กินเยอะจึงมักแอบไปกินอาหารคนเดียว นำไปสู่โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
4) โรคเลือกกินอาหาร (Avoidant restrictive food intake disorder: ARFID) ขาดความสนใจในการกินอาหาร เลี่ยงการกินอาหารที่มีลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น สี เนื้อสัมผัส กลิ่น และรสที่ไม่ชอบ หรือหลีกเลี่ยงการกินเพราะกลัวการสำลัก อาเจียน ท้องเสีย และแพ้อาหาร ซึ่งหากความผิดปกตินี้เกิดกับเจ้าตัวเล็ก อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้น้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ควรเป็น
5) ภาวะการเคี้ยวกลืนอาหารแล้วขย้อนออก (Rumination Disorder) สำรอกอาหารที่เคยเคี้ยวและกลืนไป แล้วเคี้ยวซ้ำก่อนจะกลืนเข้าไปใหม่หรือเปลี่ยนเป็นบ้วนทิ้ง โดยไม่ได้เกิดจากอาการจุกเสียดท้องหรือคลื่นไส้ อาการนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างน้อย 1 เดือน พบได้ทั้งในทารก เด็ก และผู้ใหญ่ อาจเริ่มมีอาการในทารกช่วงอายุ 3–12 เดือน และอาการจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่ก็อาจพบในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาได้ โดยเด็กที่มีอาการนี้ อาจขาดสารอาหารอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
6) ภาวะการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (Pica) อยากกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น น้ำแข็ง กระดาษ สบู่ ดิน เส้นผม ฝุ่น ไหมพรม โคลน กรวด ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อ และขาดสารอาหาร พบได้ในเด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) หรือมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมวัยเด็กที่เพียงแค่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com
- มาปกป้องเจ้าตัวเล็ก จาก COVID-19 กันเถอะ
- 11 เคล็ดลับฝึกเจ้าตัวเล็กให้มี Digital Empathy
- 3 เคล็ดลับแก้ปัญหาเจ้าตัวเล็กหัวแบน
Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่