9 เคล็ดลับใช้ยาลดไข้เด็กอย่างปลอดภัย

ยาทุกชนิดมีคุณ แต่ก็มีโทษได้เช่นกัน ถ้าเราใช้ยาไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกวิธี แม้จะเป็นยาลดไข้ในเด็กเล็กก็ตาม แล้วเราจะใช้ยาลดไข้เด็กอย่างปลอดภัยได้ยังไง วันนี้เพจเจ้าตัวเล็กมีคำตอบมาฝากค่ะ

ยาลดไข้ในเด็ก ถือเป็นตัวช่วยลดไข้ที่หลายๆ บ้านมีติดไว้ใช้เป็นประจำ แต่ถึงแม้จะดูธรรมดาและปลอดภัย ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธี และไม่รู้ถึงข้อควรระวัง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับเจ้าตัวเล็กได้ นี่คือ 9 เคล็ดลับใช้ยาลดไข้เด็กอย่างปลอดภัย ที่เพจเจ้าตัวเล็กนำมาฝากค่ะ

1) ห้ามใช้ยาลดไข้เองในเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน หากทารกในวัยนี้ตัวร้อนหรือไม่สบาย คุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอทันที

2) อย่าใช้ยาลดไข้โดยไม่จำเป็น ขอให้เริ่มต้นลดไข้ด้วยการเช็ดตัว ให้ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอเสียก่อน และถ้าเจ้าตัวเล็กไข้ไม่ลด มีอาการงอแงมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย ซึม ไม่สบายตัว หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรพาไปพบคุณหมอทันที

3) ใช้ยาลดไข้ตามที่คุณหมอสั่ง ทั้งในเรื่องของปริมาณและความถี่ในการใช้ หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมออีกครั้ง

4) เลือกยาลดไข้ตามช่วงอายุเด็ก โดยยาลดไข้สำหรับเด็กแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก

  • กลุ่มยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ซึ่งปลอดภัยกว่า
  • กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAID) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งคุณหมออาจจ่ายยากลุ่มนี้ให้เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

5) ใช้ยาตามน้ำหนักตัว โดยคุณพ่อคุณแม่ควรคำนวณปริมาณยาให้ได้ประมาณ 10–15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก (กิโลกรัม)

6) ใช้อุปกรณ์ให้ยาที่เหมาะสม โดยใช้ช้อนที่มาพร้อมยาน้ำนั้นๆ เพื่อให้ได้ยาในปริมาณที่ถูกต้อง ส่วนการใช้ไซริงค์ หรือกระบอกฉีดยาแบบไม่มีเข็ม ต้องดูขนาดของกระบอกและดูตัวเลขกำกับปริมาณบนหลอดเสมอ เพราะไซรินจ์จะมีทั้งหน่วยที่เป็นออนซ์ และมิลลิลิตร

7) ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบูโพรเฟนและยาแอสไพรินมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด กรณีเจ้าตัวเล็กเป็นแผลหรือบาดเจ็บ อาจทำให้เลือดออกมากขึ้นได้

8) ยาเหน็บลดไข้ทางทวารเป็นอีกตัวเลือก กรณีเจ้าตัวเล็กมีอาการอาเจียน ไม่สามารถกินยาได้ หรือกินยายาก โดยคุณหมอจะใช้ยาเหน็บในเด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น และปริมาณยาที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเด็กเช่นกัน

9) กรณีเจ้าตัวเล็กมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพาไปพบคุณหมอ

  • อาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาลดไข้ ไข้กลับ หรือเป็นไข้ ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนมีไข้สูงกว่าหรือเทียบเท่า 38 องศาเซลเซียสเมื่อวัดอุณหภูมิผ่านปากหรือทวารหนัก
  • เด็กอายุ 3–12 เดือนมีไข้สูงกว่าหรือเทียบเท่า 39 องศาเซลเซียส เมื่อวัดอุณหภูมิผ่านปากหรือทวารหนัก
  • มีอาการอื่นร่วมกับอาการไข้ เช่น เบื่ออาหาร ร้องไห้โดยที่ไม่มีน้ำตา ทารกไม่ปัสสาวะในช่วง 8 ชั่วโมง หรืออาเจียน

 

Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่