5 สิ่งที่เด็กแรกเกิดทำใน 1 วัน และคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจยังไม่ค่อยเข้าใจพฤติกรรม และภาษากายของเด็กแรกเกิดสักเท่าไหร่ ความจริงแล้วพวกเค้าก็มีกิจวัตรประจำวันไม่ต่างจากพวกเรา เพียงแต่ยังสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ และทำสิ่งเหล่านั้นเองไม่ได้ วันนี้เพจเจ้าตัวเล็กเลยนำเรื่องราวของ 5 สิ่งที่เด็กแรกเกิดทำใน 1 วัน และคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจมาฝาก จะมีเรื่องอะไรบ้าง เรามาดูพร้อมกันเลยค่ะ

การเรียนรู้และทำความเข้าใจภาษากาย รวมไปถึงพฤติกรรมในแต่ละวันของเด็กแรกเกิด ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจกิจวัตรประจำวันทั้งหมดของเจ้าตัวเล็กได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกการกิน การนอนของลูกให้เป็นเวลาได้ง่ายขึ้นด้วย ใน 1 วัน ลูกของเรามีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตยังไงบ้าง และภาษากายที่แสดงออกในแต่ละกิจวัตรเป็นยังไง มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ

1) กิน เด็กแรกเกิดส่วนใหญ่จะกินอาหารทุก 1 ชั่วโมงครึ่ง-3 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นอยู่กับการให้นมของคุณแม่ โดยจะทำท่าดูดมือหรือดูดนิ้ว หรืออ้าปากเมื่อถูกสัมผัสที่แก้มเวลาหิว ส่วนการร้องไห้จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าตัวเล็กหิวมาก หรืออยากกินนมเพิ่มอีก นอกจากนี้ หลังจากลูกกินนม คุณแม่ควรทำให้ลูกเรอ หรือถ้าเจ้าตัวเล็กนอนหลับไปขณะกินนม หรือเบือนหน้าหนีจากเต้านม อาจเป็นสัญญาณว่าอิ่มแล้ว

2) อุจจาระและปัสสาวะ เด็กแรกเกิดอาจปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้ง หรืออุจจาระมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน โดยอุจจาระของเด็กแรกเกิดอาจดูหนาและมีสีดำหรือสีเขียวเข้ม ที่เรียกว่า ขี้เทา ซึ่งหลังจากขับถ่ายขี้เทาแล้ว อุจจาระของเด็กแรกเกิดก็จะเปลี่ยนมาเป็นลักษณะอ่อนนุ่ม เป็นมูก โดยเด็กแรกเกิดที่กินนมแม่อาจมีอุจจาระสีเหลืองอ่อน เป็นก้อนเล็กๆ ส่วนเด็กแรกเกิดที่กินนมผง อุจจาระอาจมีเนื้อแน่น และมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน ก่อนจะเริ่มถ่ายน้อยลงในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา

3) ร้องไห้ วิธีการสื่อสารของเด็กแรกเกิด ซึ่งถ้าเป็นช่วง 2 ชั่วโมงผ่านไป หลังจากกินนมแล้วร้องไห้ อาจหมายความว่าเจ้าตัวเล็กรู้สึกหิว นอกจากนี้เด็กแรกเกิดยังร้องไห้เพราะอยากนอน หรือเพราะผ้าอ้อมเปียกด้วย

4) นอนหลับ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ เด็กแรกเกิดจะนอนหลับประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กแรกเกิดหลายคนหลับขณะกำลังกินนมแม่ สัญญาณที่บอกว่าทารกง่วงนอน ได้แก่ หาว ตาปรือ ขยี้ตา โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจัดท่าทางให้เด็กแรกเกิดนอนหงายอยู่เสมอ และควรมีเพียงผ้าห่มบางๆ คลุมตัว ส่วนเด็กแรกเกิดที่อายุมากกว่า 1 เดือนมักเริ่มนอนเป็นเวลา และหลับนานขึ้น

5) เล่น และพยายามเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคนใกล้ตัว ทั้งน้ำเสียง สีหน้า และการสัมผัส คุณพ่อคุณแม่จึงควรร้องเพลง อ่านหนังสือ ยิ้มหัวเราะ ทำท่าทางต่างๆ หรือพูดคุยกับลูกบ้าง โดยยังไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่น

ขอบคุณข้อมูลจาก : hellokhunmor.com

 

Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่