6 ข้อควรรู้และควรระวังหลังปลดล็อกกัญชาจากสารเสพติด

เราคงเห็นข่าวผลกระทบจากการใช้กัญชา หลังจากกัญชาได้รับการประกาศว่าไม่ใช่ยาเสพติด โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่นมามากมาย วันนี้เพจเจ้าตัวเล็กเลยรวบรวมข้อควรรู้และควรระวังเกี่ยวกับกัญชามาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

เด็ก รวมไปถึงผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก จัดเป็นบุคคลกลุ่มที่ไม่ควรใช้กัญชา ไม่ว่าจากการสูดดม เสพ หรือกิน แล้วเราจะระมัดระวังในการดำเนินชีวิตยังไง ไม่ให้เผลอกินอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา ด้านล่างนี้คือคำตอบค่ะ

 

1) ตระหนักอยู่เสมอว่า กัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษาโรค และไม่ควรใช้กัญชาแทนยารักษาโรคที่คุณหมอสั่งจ่าย

2) คนที่แพ้กัญชา ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวช เด็ก และผู้อายุน้อยกว่า 18 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมลูก รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาวาฟาริน (Warfarin) จัดเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรใช้กัญชา ขณะที่ผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ไม่ควรใช้ช่อดอกกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองได้

3) ระมัดระวังการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมลูกไม่ควรกินอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

4) ช่วงแรกที่เริ่มกินอาหารที่มีกัญชา อาจทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง มึนงง ปวดหัว ง่วงนอน และใจเต้นเร็ว โดยอาจเริ่มมีอาการหลังกิน 30–60 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมง

5) ถ้าเจ้าตัวเล็กหรือสมาชิกในครอบครัว ได้รับอันตรายจากการกินอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้แจ้งข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชา หรือไม่แจ้งข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่เหลือและหีบห่อไว้ จดรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย ติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล พร้อมอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไป

6) เด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีควันกัญชา เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แม้ไม่ได้เป็นผู้สูบเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com

 

Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่