มารู้จักโรคไตในเด็กกันเถอะ

สวัสดีจ้า เพจเจ้าตัวเล็กค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตในเด็ก มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เด็กก็เป็นโรคไตได้ แต่จะต่างจากโรคไตในผู้ใหญ่อย่างไร มาดูไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ…

โรคไตในเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันท่วงที แต่บางครั้งโรคนี้ก็กลับไม่แสดงอาการ หรือมีอาการใกล้เคียงโรคธรรมดาทั่วไป ทำให้เราดูไม่ออกว่าเจ้าตัวเล็กของเราเป็นโรคไตหรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับโรคไตในเด็กกันดีกว่าค่ะ

สาเหตุของโรคไตในเด็ก

โรคไตในเด็กแบ่งประเภทที่พบบ่อยได้ตามช่วงอายุ โดยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ในที่นี้จะเรียกว่าโรคไตในเด็กเล็ก มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือเกิดจากการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ

ขณะที่ในเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือเรียกว่าโรคไตในเด็กโตนั้น จะเกิดจากภาวะไตอักเสบ จากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง เพราะการรับประทานยาโดยไม่อยู่ในความดูแลของคุณหมอ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ และเกิดภาวะไตทำลายตัวเอง หรือเกิดจากโรคเอสแอลอี (ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง)

โรคไตที่พบบ่อยในเด็กไทย

1) การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ จากการขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ การหมักหมมของผ้าอ้อม หรือจากความผิดปกติของไตและทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิด

2) กลุ่มอาการเนโฟรติก หรือโรคไตรั่ว เจ้าตัวเล็กจะมีอาการบวม จากการสูญเสียโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ

3) โรคไตอักเสบหลังการติดเชื้อที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจากโรคเอสแอลอี เจ้าตัวเล็กจะมีอาการบวม ปัสสาวะเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ

อาการของโรคไตในเด็ก

1) ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นเลือด หรือมีสีน้ำล้างเนื้อ
2) ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ออกกระปริบกระปรอย หรือปัสสาวะมากหรือน้อยกว่าปกติ
3) มีอาการบวมที่หน้า หนังตา ขา หรืออาจบวมทั้งตัว รวมทั้งมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน
4) มีอาการซีด เหนื่อยง่าย และตัวเล็กผิดปกติ

โรคไตในเด็กส่งผลยังไงกับการเจริญเติบโต?

หากไม่ได้ตรวจพบโรคไตและรับการรักษาอย่างทันท่วงที โรคอาจเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง โดยเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็กผิดปกติ การเจริญเติบโตช้า และหากเข้าสู่ภาวะนี้แล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดภาวะไตวายจนเสียชีวิตเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

อีกสิ่งที่ควรระวังคือภาวะอ้วน และโรคไตในเด็กที่เกิดจากการรับประทานอาหารประเภทของมัน เค็ม หรือหวานจัดจนเกินไป นำพาให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้

การรักษาโรคไตในเด็ก

1) กรณีโรคไตแต่กำเนิด จากการปิดกั้นของทางเดินปัสสาวะจะต้องติดตามอาการเพื่อให้สามารถทำการรักษาได้ถูกต้อง แต่หากมีอาการรุนแรง อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

2) กรณีติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลขีพ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

3) กรณีภาวะไตอักเสบ หากติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษา จะทำได้แค่ประคับประคองอาการด้วยยาในช่วงที่มีอาการรุนแรง

4) กรณีโรคไตจากโรคเอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) จะต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน

5 เคล็ดลับป้องกันโรคไตในเด็ก

1) ให้เจ้าตัวเล็กดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายใน 1 วัน
2) เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ไม่ปล่อยหมักหมมไว้เป็นเวลานานๆ
3) ไม่ควรซื้อยาให้ลูกกินเองเมื่อเจ็บป่วย
4) ถ้าเจ้าตัวเล็กมีอาการท้องเสีย ต้องได้รับน้ำหรือน้ำเกลือทดแทน หากท้องเสียรุนแรงต้องพาไปพบคุณหมอ
5) สังเกตอาการผิดปกติของเจ้าตัวเล็ก เพื่อจะได้พาไปพบคุณหมอได้ทันท่วงที

 

Tag : #jaotourlek #child #baby #children #เจ้าตัวเล็ก #เลี้ยงเด็ก #parents #คุณพ่อคุณแม่ #พ่อ #แม่ #พ่อแม่ #ลูก #เด็ก #คนท้อง #ตั้งครรภ์ #คุณแม่ #มือใหม่ #แม่ #วันแม่